โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth Disease)
นายจิรพันธ์ อยู่สะบาย (นักวิชาการสาธารณสุข)
โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นอย่างไร ?
โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด โรคมือ-เท้า-ปาก แพร่กระจายทางใด ?
เชื้อไวรัสพบในอุจจาระ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย รวมทั้งในตุ่มพองของผู้ป่วย เชื้อจึงแพร่กระจายได้จากการสัมผัสกับอุจจาระ น้ำมูก น้ำลายและน้ำในตุ่มพองของผู้ที่เป็นโรค ระยะเวลาการแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็นโรค จนถึงเมื่อตุ่มพองที่ผิวหนังหายไป เชื้อไวรัสถูกปลดปล่อยออกมาทางอุจจาระนานหลายสัปดาห์
อาการของ โรคมือ-เท้า-ปาก มีอะไรบ้าง ?
หลังจากสัมผัสเชื้อ 3 – 6 วัน เด็กจะมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ หลังจากนั้น 1 – 2 วัน เด็กมักจะมีอาการเจ็บในปาก ทำให้ไม่ยอมรับประทานอาหารตามปกติ ทั้งนี้เนื่องจากมีตุ่มพองและแผลเกิดขึ้นในปาก นอกจากนี้ยังพบตุ่มพองที่มือและเท้าด้วย ส่วนอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น คือ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวม เป็นต้น
ลักษณะที่สังเกตพบในปากเป็นอย่างไร ?
ส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการเจ็บในปาก ทำให้ไม่รับประทานอาหารตามปกติ ในปากจะเริ่มจากมีจุดแดงแล้วเป็นตุ่มพอง มักพบที่เพดานแข็ง ลิ้น กระพุ้งแก้ม ตุ่มพองนี้มักจะแตกออกหลังจากเกิดขึ้นไม่นาน ทำให้พบลักษณะเป็นแผลตื้นๆ รูปร่างกลมขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร ขอบแผลแดง พื้นแผลมีสีออกเหลือง แผลเล็กๆ หลายแผลอาจรวมกันเป็นแผลใหญ่ก็ได้ ส่วนลักษณะที่พบบริเวณมือและเท้าผื่นที่ผิวหนังอาจเกิดต่อเนื่อง 1 – 2 วัน เริ่มจากจุดเรียบหรือนูนแดง แล้วกลายเป็นตุ่มพองและแตกออกเป็นแผล พบได้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งด้านข้างของนิ้วมือและนิ้วเท้า
วินิจฉัยโรคด้วยวิธีใด ?
การวินิจฉัยมักอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย ในกรณีที่จำเป็นอาจตรวจหาเชื้อไวรัส (coxsakievirus หรือ enterovirus ชนิดอื่นๆ) เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย แต่ค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน
ป้องกันโรคได้อย่างไร ?
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันโรคมือเท้าปาก รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้โดย
-
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
- เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
- รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
- หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย
ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคมือเท้าปากชนิดที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะมีการเสียชีวิต เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เช่น - การปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ
- การคัดแยกเด็กป่วยออกตั้งแต่เดินเข้าที่หน้าประตูโรงเรียน
- การหมั่นล้างมือ เช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
สรุป
โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นโรคที่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกจากลักษณะอาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะในรายที่มีตุ่มพองและแผลในปากร่วมกับตุ่มพองที่มือและเท้า ควรพบแพทย์/ทันตแพทย์เพื่อการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
อ้างอิง
- ศ.ดร.ทพญ.วรานันท์ บัวจีบ ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปากและปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลhttp://www.dt.mahidol.ac.th/th/โรคมือ-เท้า-ปาก/
- รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/hand-foot-and-mouth-disease/
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ https://www.bumrungrad.com/th/conditions/hand-foot-mouth