ภัยร้ายใกล้ตัวจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

นางสาววนิดา สีต่างคำ (นักวิชาการสาธารณสุข)

ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)

เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน(Amoxicillin), เตตร้าชัยคลิน(Tetracyclin), เพนนิซิลลิน(Penicillin), อะซิโทรมัยซิน(Azithromycin) เป็นต้น

ยาแก้อักเสบ หรือ ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs)

เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ลักษณะการอักเสบ

    • การอักเสบมี 2 แบบ คือ 1. อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 2. อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • การอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่การอักเสบเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคภูมิแพ้ คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แดดหรือสารเคมี กล้ามเนื้ออักเสบจากการยกของหนัก

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

แพ้ยา : หากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้นผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต

เกิดเชื้อดื้อยา : การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด

เกิดโรคแทรกซ้อน : ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ และอาจอันตรายถึงชีวิต

กลุ่มโรค 3 กลุ่มที่ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ

โดยใน 3 กลุ่มโรคดังต่อไปนี้มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะสูงมาก ได้แก่ 1. ไข้หวัด เจ็บคอ 2. ท้องเสีย 3. แผลเลือดออก ทั้งนี้เพราะมากกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มโรคเหล่านี้ไม่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เพื่อลดอุบัติการณ์เชื้อดื้อยาและการเสียเงินโดยไม่จำเป็น ผู้ป่วยอาจใช้แนวทางพิจารณาความรุนแรงของโรคเพื่อดูแลรักษาตนเองได้ ดังนี้

4 วิธีปลอดภัย…ก่อนกินยาปฏิชีวนะ

1. ถามแพทย์/เภสัชกรให้แน่ใจว่าโรคที่เป็นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
2. กินให้ครบตามแพทย์สั่งและห้ามเก็บไว้กินครั้งต่อไป
3. ห้ามแนะนำหรือแบ่งยาให้กับผู้อื่นเพราะอาจเกิดการแพ้ยา
4. อย่าใช้ยาปฏิชีวนะตามที่ผู้อื่นแนะนำต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น

อ้างอิง

ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ, อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ  https://bit.ly/2X83WRA