เข้าใจ… โรคซึมเศร้า

อ.นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์

โรคซึมเศร้า คืออะไร

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยมาก มีการประมาณการณ์ว่า ในประชากรทุกๆ 10 คน จะมี 1 คนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมไปถึงการดูแลตนเอง

          อาการของโรคซึมเศร้า สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

การป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น ไม่เหมือนกับ ความเศร้าปกติ แน่นอนว่าทุกคนเคยผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเศร้ามาทั้งนั้น แต่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น อารมณ์เศร้าอาจจะไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น (ทำดินสอหาย 1 แท่ง แต่รู้สึกเศร้า คิดโทษตัวเองไปอีก 3 เดือน เป็นต้น) หรือ อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ มากระตุ้นเลยก็ได้

 

โรคซึมเศร้า เกิดจากอะไร

ความเข้าใจผิดหนึ่งเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า คือ การที่คิดว่า โรคซึมเศร้าจะเกิดขึ้นกับคนที่เจอเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิตเท่านั้น แท้จริงแล้ว โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ มากระตุ้นเลยก็ได้ และคนที่เจอเหตุการณ์ร้ายๆ ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นซึมเศร้าเสมอไป

แท้จริงแล้ว โรคซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือ เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (Multifactorial causation) โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่

    1. พันธุกรรม
    2. การทำงานของสมอง เช่น สารสื่อประสาทในสมอง ที่ผิดปกติไป
    3. ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
    4. ผลข้างเคียงจากยาบางประเภท
    5. เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
    6. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสังคม

จากการศึกษาพบว่าระดับสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยซึมเศร้า มีความแตกต่างจากผู้ที่ไม่ป่วย อย่างมีนัยสำคัญ

 

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างแพทย์ และผู้ป่วย โดยจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน และพยายามช่วยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้ โดยวิธีต่างๆ ซึ่งวิธีการรักษาหลักๆ จะแบ่งออกเป็น

    1. การทำจิตบำบัด โดยการพูดคุย เช่น การปรับพฤติกรรม การปรับความคิด เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่า การทำจิตบำบัด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของสมองส่วนต่างๆ
    2. การรับประทานยา ซึ่งจะไปช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะนัดมาประเมินอาการเป็นระยะๆ เพื่อพิจารณาปรับยา หรือ หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แพทย์ก็สามารถพิจารณาหยุดยาได้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง
    3. การรักษาด้วยไฟฟ้า จะทำในผู้ป่วยซึ่งมีอาการรุนแรง หรือ รักษาด้วยการทำจิตบำบัด ร่วมกับยา แล้วไม่ดีขึ้น

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

ความเข้าใจผิด

เรื่องจริง

“ความจริงชีวิตมันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ฉันเป็นซึมเศร้า ดังนั้น เป็นความผิดของฉัน ที่คิดมากไปเอง”

ไม่มีใครอยากเป็นโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นเพียงการ “คิดไปเอง” แต่เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง, พันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไปควบคุมไม่ได้ ดังนั้น จึงการเป็นโรคซึมเศร้า จึงไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย และเราไม่ควรพูดกับผู้ป่วยว่า “อย่าคิดมาก” เพราะการเป็นซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจาก การคิดมากไปเอง
“โรคซึมเศร้าเกิดจากสมองทำงานผิดปกติ เหมือนระบบไฟฟ้าทำงานรวน ดังนั้น เราทำอะไรกับมันไม่ได้หรอก นอกจากกินยา” จริงอยู่ ที่ว่าโรคซึมเศร้า ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ (ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม การรับประทานยา จึงช่วยให้อาการดีขึ้นได้) แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม โดยการทำจิตบำบัด ซึ่งมีผลวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่าการทำจิตบำบัด สามารถช่วยเปลี่ยนการทำงานของสมองได้
“จะกินยาไปทำไม ยาไม่ได้ช่วยให้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตมันดีขึ้นหรอก” จริงอยู่ ที่ยาไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกได้ แต่ยาสามารถช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ช่วยให้เราไม่จมอยู่กับความคิดแง่ลบ ซึ่งจะสามารถทำให้มีวิธีในการรับมือกับปัญหา ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
“คนอื่นเจอเหตุการณ์แย่กว่านี้ แต่ก็ไม่เห็นจะเป็นซึมเศร้า ดังนั้น ฉันมันก็แค่คนอ่อนแอคนหนึ่ง ที่ไม่มีความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้” ไม่มีใครในโลกที่เหมือนกันทุกอย่าง แต่ละคนมีปัจจัยต่างๆ ในชีวิตไม่เหมือนกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ มีทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และไม่ได้ ดังนั้น การที่คน 2 คนเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน ไม่ได้แปลว่า ทั้ง 2 คนนั้น จะต้องมีความรู้สึก มีการตีความ มีการรับมือ กับเหตุการณ์นั้นๆ ได้เหมือนกัน นอกจากนี้ การที่เรามองเห็นคนอื่นรับมือได้ดีกว่า มันไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่รู้สึกเศร้า ไม่ร้องไห้ แต่เขาอาจจะแค่พยายามซ่อนความรู้สึกเหล่านี้เอาไว้ก็ได้
“ฉันไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยหรอก ฉันควรจะหยุดคิดมาก และก้าวเดินต่อไปได้แล้ว การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของตัวเองมันเป็นสิ่งที่แก่ตัว และไม่ได้ทำให้อะไรๆ ดีขึ้น”

ถ้าการหยุดคิดมากมันทำได้ง่ายขนาดนั้น บนโลกใบนี้ก็คงไม่มีใครเป็นซึมเศร้า และจิตแพทย์ก็คงตกงาน ไม่มีใครสั่งตัวเองให้หยุดคิด หยุดรู้สึกเศร้าได้ เหมือนการเปิด-ปิดสวิตช์ การพูดคุย และระบายอารมณ์ กับคนที่พร้อมจะฟัง (ซึ่งเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าใจก็ได้ แค่เพียงเขาพยายาม “ฟัง”) ก็สามารถทำให้รู้สึกดีขึ้นได้

สรุป

  1.  โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ทั่วไป
  2. โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากการคิดไปเอง แต่เป็นโรคทางกายชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม
  3. โรคซึมเศร้าสามารถทำให้ดีขึ้นได้ โดยการร่วมมือกัน ระหว่างแพทย์ กับ ผู้ป่วย
  4. บางครั้ง การถูกตีตรา ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมนั้นมันแย่ยิ่งกว่าอาการของโรคเสียอีก ดังนั้นแค่เราพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป่วย ก็สามารถทำให้ชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้

อ้างอิง

  1. Oxford Handbook of Psychiatry, 3rd Edition
  2. Coping with Depression Leaflet by Cambridge and Peterborough NHS Foundation Trust