มารู้จักอาการปวดศีรษะกัน

อ.นพ.วนกร รัตนวงษ์

ตอนที่ 1: มารู้จักอาการปวดศีรษะกัน

เคยทราบไหมครับว่าอาการปวดศีรษะนั้นมีความสำคัญมากขนาดไหน จริงๆแล้วหมออยากจะบอกว่าคนไทยยังเข้าใจกันมันน้อยมากๆ รวมถึงหมอหลายๆท่านก็ไม่ได้เข้าใจถึงโรคปวดศีรษะไปทั้งหมด หลายครั้งที่ผู้ป่วยจะเดินเข้ามาแล้วได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรนเสมอๆ แล้วอาการที่เราเป็น…เป็นไมเกรนจริงไหม??หรือมันมีโรคอื่นที่อาจเป็นมากกว่า วันนี้หมอเลยอยากจะมาเล่าเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคปวดศีรษะให้ฟัง

อาการปวดศีรษะอาจจะเรียกได้ว่าป็นอาการยอดฮิตอันดับต้นๆเลยสำหรับคนไข้ที่เดินทางมาหาหมอ และแน่นอนละว่าในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งก็ต้องเคยปวดหัวมาอย่างน้อยสักหนึ่งครึ่ง ผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลก(WHO) ปีล่าสุด ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีถึง 50% นั้นแปลว่าถ้าประชากรโลกมีอยู่ประมาณ 7 พันล้านคน ก็มีคนปวดศีรษะถึง 3.5 พันล้านคนเลยทีเดียว โดยมีคนไข้ไมเกรนประมาณ 1 พันล้านคน (15%) ตัวเลขไม่น้อยเลยนะครับ แต่ที่น่าตกใจกว่าคือคนไข้ปวดศีรษะนั้นมาพร้อมกับภาวะทุพพลภาพ(Disability)สูงเป็นอันดับ 6 ของทุกโรคที่มีอยู่บนโลกใบนี้เลย โดยการศึกษาแค่ในประเทศอังกฤษพบว่าปีหนึ่งคนขาดงานหรือขาดเรียนจากอาการปวดศีรษะรวมๆกันทั้งประเทศถึง 25 ล้านวัน และทำให้อังกฤษขาดรายได้ตรงนี้ถึง 2.25 พันล้านปอนด์เลยทีเดียว จากตรงนี้ถ้าเราให้ความสำคัญกับมันเพียงพอเราก็จะลดภาวะทุพพลภาพได้มากเลยทีเดียว

แล้วภาวะปวดศีรษะนี้มันแบ่งอย่างไร? ปัจจุบันเราแบ่งหลักๆเป็นสองชนิด คือ

1. ปวดศีษะแบบปฐมภูมิ-primary headache (จริงๆหมอว่าใช้คำว่าปวดศีรษะแบบสาเหตุไม่แน่ชัดจะเข้าใจง่ายกว่า) กลุ่มนี้นะครับคือปวดศีรษะที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ เช่น ไมเกรน ปวดศีรษะแบบ tension และปวดศีรษะแบบ cluster เราจะเห็นว่าพวกนี้เรายังตอบไม่ได้แน่ชัดว่าอะไรทำให้มันเกิด อะไรเป็นสาเหตุของพวกมัน

2. ปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ-secondary headache (หมอขอใช้ว่าแบบมีสาเหตุละกัน) กลุ่มนี้คือปวดศีรษะที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น ไข้สูง(เวลาเราป่วยหนักๆมีไข้มันจะปวดหัวทุกที) เคยมีอุบัติเหตุที่ศีรษะ เคยผ่าตัดที่ศีรษะ เคยติดเชื้อในศีรษะ มีก้อนมะเร็งในศีรษะ มีเลือดออกในศีรษะ เป็นต้น

จากการแบ่งที่เล่ามานี้ ชนิดมีสาเหตุดูน่ากลัวกว่าและอันตรายกว่าอยู่เหมือนกันนะครับ ดังนั้นหมอเราเลยแนะนำว่าผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที! เน้นนะครับ

1. ผู้ที่ไม่เคยปวดศีรษะแล้วปวดมาก

2. ผู้ที่รู้สึกว่าปวดที่สุดในชีวิตจนทนไม่ได้

3. ผู้ที่ปวดมานานเป็นสัปดาห์

4. ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีก สับสน ซึม เดินเซ เป็นต้น

5. ไข้สูง

6. อ้วกหรืออาเจียนพุ่งร่วมกับปวดศีรษะมาก -> สงสัยภาวะที่ความดันในกระโหลกสูง เช่น เลือดออกในสมองหรือก้อนมะเร็ง

7. ผู้ที่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะปวดศีรษะมาก

8. ปวดศีรษะครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี

9. ผู้ที่ไอ จาม เบ่ง แล้วปวดศีรษะมากขึ้น

10. ผู้มีโรคประจำตัว

ถ้านอกเหนือจากนี้ เรายังพอสังเกตุอาการได้ ทานยาแก้ปวดไปก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นก็สามารถมาพบแพทย์ในเวลาราชการได้ครับ

ในครั้งหน้าหมอจะมาเล่าเกร็ดความรู้ของโรคที่ทุกคนคุ้นเคยคือโรคไมเกรน เราจะมาฉีกและย่อยโรคนี้ให้เข้าใจกันไปเลยว่าแท้ที่จริงแล้วอาการอะไรกันแน่ที่เป็นไมเกรน

อ้างอิง
1. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/headache-disorders
2. Kasper, D. L., Fauci, A. S., Hauser, S. L., Longo, D. L. 1., Jameson, J. L., & Loscalzo, J. (2015). Harrison’s principles of internal medicine (19th edition.). New York: McGraw Hill Education.