หัดเยอรมัน (German measles)
นางสาวอลิสา กาติ๊บ นักวิชาการสาธารณสุข
หัดเยอรมัน, เหือด หรือ หัดสามวัน (German measles/เจอร์มันมีเซิลส์, Rubella/รูเบลลา หรือ Three-day measles/ทรีเดย์มีเซิลส์) เป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และออกผื่นคล้ายโรคหัด แต่จะมีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไป มักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าทารกในครรภ์ ทำให้ทารกพิการ แท้ง หรือตายในครรภ์ได้ และโรคนี้เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะมีภูมิคุ้มกันไปจนตลอดชีวิต จะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
สาเหตุการเกิดโรค
เกิดจากเชื้อหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า “รูเบลลา” (Rubella) หรือที่เรียกว่า “รูเบลลาไวรัส” (Rubella virus) ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลโทกาวิริดี (Togaviridae) โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย เชื้อหัดเยอรมันนี้ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอก เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อหัดเยอรมันเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อนี้จะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดเป็นครั้งแรกแล้วไปสู่ระบบน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง (ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต) ตับ และม้าม ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนเชื้อแล้วกระจายเข้าสู่กระแสเลือดเป็นครั้งที่สอง ทำให้เกิดอาการที่ระบบต่าง ๆ ได้แตกต่างกันไป และสามารถตรวจพบเชื้อในระบบต่าง ๆ ได้ เช่น ในเลือด ปัสสาวะ และน้ำไขสันหลัง
อาการของโรคหัดเยอรมัน
ระยะก่อนออกผื่น : มีไข้ต่ำ ๆ ถึงปานกลาง ไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตและเจ็บ สามารถคลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะป่ำ ตรงหลังหู หลังคอ ท้ายทอย และข้างคอทั้ง 2 ข้าง ในบางรายอาจมีถ่ายเหลวเล็กน้อยก่อนผื่นขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-5 วันก่อนที่ผื่นจะขึ้น และเมื่อมีผื่นขึ้นอาการจะทุเลาลง
ระยะออกผื่น : ผื่นจะมีลักษณะแบนราบเป็นสีชมพูอ่อน ๆ มีขนาดเล็ก ๆ ประมาณ 1-4 มิลลิเมตร ผื่นมักจะแยกจากกันชัดเจนไม่แผ่รวมกันเป็นแผ่นแบบโรคหัด โดยผื่นจะเริ่มขึ้นจากที่หน้า ตามชายผม รอบปาก และใบหูก่อนที่อื่น แล้วกระจายลงมาตามลำคอ ลำตัว แขนและขาอย่างรวดเร็วจนทั่วตัวภายใน 1-3 วัน โดยทั่วไปผื่นมักจะไม่มีอาการคัน นอกจากในผู้ใหญ่บางรายอาจมีอาการคันได้เล็กน้อย ผื่นแต่ละแห่งมักจะจางหายไปภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งผื่นจะจางหายไปจนหมดภายในเวลาประมาณ 3 วัน
การรักษา
สำหรับโรคหัดเยอรมันที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ทั่วไป (ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์) แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่เป็น เช่น
-
- ถ้ามีไข้สูงให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) โดยในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง โดยควรรับประทานเฉพาะเวลาที่มีอาการ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ได้
- ถ้ามีอาการคัน แพทย์จะให้ยาทาแก้ผดผื่นคันหรือคาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ทาบริเวณที่คันวันละ 2-3 ครั้ง
ระยะติดต่อ
ระยะเวลาตั้งแต่ 5 วันก่อนผื่นขึ้นจนกระทั่ง 6 วันหลังจากผื่นเริ่มขึ้น ผู้ป่วยจะมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในลำคอและแพร่เชื้อได้ในระยะ 3-8 วันหลังจากได้รับเชื้อไปจนถึงระยะหลังจากที่ผื่นเริ่มขึ้นแล้วประมาณ 6-14 วัน โรคนี้มักพบการระบาดในโรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน และช่วงที่มักจะเกิดโรคคือ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
การป้องกัน
-
- ฉีดวัคซีน เป็นการป้องกันทางเดียวที่ได้ผลดีที่สุด โดยวัคซีนนี้จะเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อเด็กมีอายุได้ 9 เดือน สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนเป็นกรณี ๆ ไป
- รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการนำมือมาจับใบหน้า เนื่องจากเชื้อนี้สามารถติดต่อจากสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยได้
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กทารกไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เนื่องจากก่อนช่วงอายุ 9 เดือน ยังไม่ถึงกำหนดฉีดวัคซีน เด็กจะอาศัยภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดา ซึ่งเราคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีประสิทธิภาพจนถึงเมื่อใด ดังนั้น เด็กวัยนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก
อ้างอิง : Medthai. “หัดเยอรมัน อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหัดเยอรมัน 10 วิธี !!”. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://medthai.com. (8 ตุลาคม 2562)