ท้องร่วง ท้องเสีย ต้องกินยาฆ่าเชื้อ..จริงหรือ?

อ.นพ. ชยุต มฤคทัต

ทุกคนเคยท้องเสียครับ หลายท่านที่มีอาการท้องเสียตัดสินใจมาพบแพทย์ ทำให้แพทย์ได้รับรู้ข้อสงสัยหลายๆอย่างที่มักจะคล้ายกัน อาทิเช่น ท้องเสียสามารถกินนมได้ไหมหรือควรเลี่ยงอาหารชนิดใดบ้าง ท้องเสียต้องทานยาฆ่าเชื้อหรือไม่(บางท่านมีความเชื่อว่ายาฆ่าเชื้อทำให้หายไวขึ้น) เป็นต้น บทความนี้จะตอบคำถามข้างต้นให้กับทุกท่านครับ

ขั้นแรกมาทำความรู้จักกับโรคท้องเสียกันก่อน

สาเหตุ? อาการท้องเสียพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ โรคประจำตัวและอื่น ๆ สาเหตุส่วนมากในผู้ใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือใช้ภาชนะที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และบางส่วนเกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียเอง ในส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือพยาธิอื่น ๆ ส่วนสาเหตุในเด็กก็คล้ายกันกล่าวคือ เกิดจากการดูดขวดนมที่ล้างไม่สะอาดหรือดูดอมสิ่งของสกปรกต่าง ๆ

อาการที่ต้องพึงสังเกตุ? ลักษณะของอุจจาระเป็นสิ่งสำคัญที่ควรสังเกตุ ประกอบด้วย สี(เหลือง แดง ดำ) เนื้ออุจจาระ(น้ำ มูก มันลอย) และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ อาการร่วมที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการปวดท้องบีบสลับคลายทั่วท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และไข้

การรักษาในเบื้องต้น? ควรทานเกลือแร่(Oral Rehydration Salt/ORS) เพื่อชดเชยปริมาณน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ทานอาหารย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม งดการดื่มนม/ผลิตภัณฑ์จากนม หรืออาหารกากไยอื่น ๆ และการทานยาบรรเทาอาการเช่น ยาแก้คลื่นไส้(เช่น Domperidone) ยาคลายการบีบตัวของลำไส้/ยาแก้ปวดท้อง(เช่น Buscopan หรือ Loperamide) หรือพาราเซตามอลลดไข้ เป็นต้น ซึ่งยาดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ดังนั้นการไปพบแพทย์อาจเป็นเรื่องไม่จำเป็น

โดยปกติแล้วร่างกายเราสามารถขับถ่ายเชื้อก่อโรคหรือสารพิษต่าง ๆ ออกไปได้เองทางอุจจาระในเวลา 2-3 วัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องทานยาฆ่าเชื้อแต่อย่างใด นอกจากนี้การทานยาฆ่าเชื้ออาจทำให้เกิดการแพ้ยารุนแรงหรือการดื้อยาที่จะทำให้การรักษายากขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการไข้สูง ปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือเลือด อาจจำเป็นต้องทานยาฆ่าเชื้อและควรไปพบแพทย์

การทานยาบรรเทาอาการปวดท้อง(Buscopan Loperamide) ข้างต้นควรทานเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เช่น โดยสารรถทางไกลหรืออยู่ในสถานที่เข้าถึงสุขาได้ลำบาก เป็นต้น เนื่องจากยาทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช้าลง เชื้อก่อโรคจึงไม่สามารถถูกขับออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากมีอาการปวดท้องรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์มากกว่าทานยาดูอาการ

การป้องกัน? ทำได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและน้ำดื่มสะอาด ส่วนในเด็กป้องกันได้ด้วยการดื่มนมแม่ ต้มหรือนึ่งขวดนมและจุกนมก่อนใช้ทุกครั้ง วัคซีนป้องกันประกอบด้วยวัคซีนโรต้าในเด็กเล็ก และวัคซีนทัยฟอยด์สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม

Tips  ORS สามารถทำเองได้ง่ายๆโดยการผสมเกลือ ½ ช้อนชา น้ำตาล 6 ช้อนชาเข้ากับน้ำดื่มสะอาด 1 ลิตร